ร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน

ขนมลา ขนมเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาแห่งความกตัญญูและระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของคนใต้ ส่วนผสมของขนมทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นขนมสำคัญหนึ่งในห้าชนิดที่ใช้สำหรับจัดหมรบ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ.

พื้นที่ที่มีการทำขนมลาและมีชื่อเสียงถึงปัจจุบันคือ จังหวัดนครศรีธรรมราชที่สืบทอดภูมิปัญญาการทำขนมลา แหล่งที่มีชื่อเสียง รสชาติดี อร่อยที่สุด คือ ขนมลาจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเล่าขนมลา

ขนมลาเป็นขนมเอกลักษณ์ประจำถิ่นของ จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบ ขนมลาจะถูกใช้แทนความเชื่อว่าแทนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ ขนมลายังเป็นของซื้อของฝากของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ขนมลาทำจากแป้งข้าวสาร บดเป็นแป้งแล้วนำมาหมัก กรองน้ำแล้วหีบน้ำให้แห้ง จากนั้นนำแป้งมาผสมกับน้ำตาลจากหรือน้ำตาลโตนด แล้วจึงตักแป้งใส่กระป๋องเจาะรู (สมัยก่อนใช้กะลามะพร้าว) โรยแป้งในกระทะ ซึ่งทาด้วยน้ำมันพืชผสมไข่แดงป้องกันการติดกระทะ เรียกว่า ทอดลา จากนั้นยกขึ้นเป็นแผ่นหรือพับลา แปรรูปในลักษณะต่าง ๆ ลาที่ทอดจะหอมแป้งข้าวสารและน้ำตาล มีรสชาติ หวาน กลมกล่อม รับประทานเป็นของว่างได้ทุกโอกาส

หน่วยงานความร่วมมือ

การพัฒนาสื่อและเว็บไซต์นี้ เพื่อใช้สำหรับเป็นช่องทางการตลาดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายขนมลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย การพัฒนาสื่อสมัยใหม่เล่าเรื่องขนมลาและช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มขนมลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานผู้ร่วมให้ทุนการวิจัยในครั้งนี้ คือ บพท. สอวช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีคณะผู้วิจัยดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรกฎ จำเนียร หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธาวี จำเนียร อ.ศศิพัชร บุญขวัญ อ.ปัญจพร เกื้อนุ้ย อ.ปาริฉัตร ศรีหะรัญ อ.ทองพูล มุขรักษ์ ดร.ธัชชา สามพิมพ์