กฎหมายที่ควรรู้ สำหรับประกอบการสินค้า OTOP

อะไรเอ่ย?... "OTOP"

OTOP คือธุรกิจที่เติบโตจากโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" (ONE TAMBON ONE PRODUCT) โดยมีการแบ่งสินค้า OTOP ออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้า/เครื่องแต่งกาย ของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร OTOP นั้นถือเป็นธุรกิจหนึ่งในวิสาหกิจขนาดย่อม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากภาครัฐมากมาย และการเริ่มต้นธุรกิจ OTOP ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าพร้อมแล้ว... ลุยกันเลย

เข้าใจ "OTOP ของคุณ"

ผู้ประกอบการธุรกิจ OTOP ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชุมชน เจ้าของเพียงคนเดียว หรือผู้ประกอบการขาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) หรือวิสาหกิจชุมชน (SMCE) ต้องรู้ว่าสินค้า OTOP ที่ตนเองจะดำเนินการผลิตนั้น เป็นสินค้าประเภทชุมชน หรือประเภท SMEs เพราะคุณต้องนำข้อมูลตรงนี้ไปขอ จดทะเบียน OTOP กับสำนักงานพัฒนาชุมชน จากนั้นต้อง ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

เป็นผู้ผลิต OTOP ชั้นนำ...คุณก็ทำได้

รวมถึง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากรเมื่อคุณมีรายได้จากการขายสินค้าในธุรกิจ OTOP เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (หรือรายได้ไม่เกินนี้แต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และ/หรือต้องการนำเข้า-ส่งออกสินค้า OTOP ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน)

คัดสรรวัตถุดิบ

OTOP เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ริเริ่มจากการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาผลิตสินค้าคุณภาพ แต่สินค้าบางชนิดอาจต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบมาเป็นส่วนผสม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ขั้นตอนการนำเข้าวัตถุดิบก่อน โดยต้องมี การลงทะเบียนในระบบพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร (Paperless) เพื่อขอเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งยังต้องผ่าน พิธีการนำเข้าสินค้า โดยศึกษาพิกัดศุลกากรสินค้าที่จะนำเข้าให้ดีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณอัตราอากรขาเข้าที่คุณต้องจ่าย ณ ด่านศุลกากรทางบก ทางเรือ ทางอากาศ หรือทางไปรษณีย์ เพื่อนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคุณจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อและรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เพื่อประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วย

ผลิตและจำหน่าย

ก่อนลงมือผลิตคุณต้องรู้ข้อจำกัดในการผลิตสินค้า OTOP ก่อน คือจะต้องไม่เป็นสินค้าเลียนแบบ ดัดแปลง นำเข้า หรือนำเข้ามาดัดแปลง หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องไม่ใช้วัตถุดิบที่ผิดกฎหมาย ไม่ก่ออันตรายอย่างร้ายแรงต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ขัดต่อประเพณีวัฒนธรรมไทย และในกรณีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกฎหมายบังคับจะต้องได้รับอนุญาตผลิตอย่างถูกต้อง พร้อมกันนี้คุณจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบด้วย

เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจากการขายสินค้า OTOP ผู้ประกอบการทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ดังนี้

  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้า OTOP นั้น คุณอาจต้องมีการว่าจ้างแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และ/หรือพนักงานประจำ ฯลฯ กระบวนการด้านภาษีที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้คือ เมื่อคุณจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน รวมไปถึงการให้บริการ การโฆษณา การและขนส่ง กระบวนการทั้งหมดนี้ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้ง โดยคุณมีหน้าที่หักภาษีและนำส่งต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการจ่ายเงินได้
  • ภาษีเงินได้ เมื่อมีรายได้การขายสินค้า OTOP ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ คุณมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามรูปแบบธุรกิจ คือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

ที่มา :คลินิกภาษี กระทรวงการคลัง